ลูกจะดูดเกลี้ยงเต้ากี่นาที เคล็ดลับสังเกตพฤติกรรมการดูดนม ที่คุณแม่ต้องรู้


อีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่มือใหม่ต้องคอยสังเกตเกี่ยวกับการให้นมลูก คือการสังเกตว่าลูกจะดูดนมเกลี้ยงเต้า ใช้เวลากี่นาที และการดูดเกลี้ยงเต้านั้นเป็นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่านมเกลี้ยงเต้าแล้ว

สำหรับคุณแม่ที่กำลังอยู่ในระยะให้นมลูกนั้น ต่อมนมจะผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลา น้ำนมที่ผลิตนั้นจะไปกักเก็บอยู่ที่บริเวณเต้านม และเมื่อน้ำนมถูกกักเก็บไว้มากจนเกินไป ทำให้ไม่มีที่เหลือเก็บ น้ำนมจึงหลั่งออกมาจากหัวนม ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกได้ถึงอาการคัดเต้านม และมีน้ำนมไหลออกมา

และนี่เองคือโอกาสประจวบเหมาะที่คุณแม่สามารถปั๊มนมเก็บตุนไว้ให้ลูกน้อย หรือเป็นช่วงเวลาทองที่เหมาะสำหรับการให้นมลูกนั่นเองค่ะ

นมเกลี้ยงเต้า คืออะไร?

นมเกลี้ยงเต้า คือการที่ลูกดูดนมจนหมดเต้านม เมื่อลูกดูดนม หรือคุณแม่ปั๊มนมเก็บไว้ น้ำนมในเต้าจึงหมด ทำให้รู้สึกคัดตึงที่บริเวณเต้านม และเต้านมจะค่อย ๆ ฝ่อลง  ปริมาณน้ำนมที่ร่างกายของคุณแม่สร้างขึ้นมานั้นจะพอดีกับความต้องการของลูก และเมื่อน้ำนมของคุณแม่ผลิตออกมา ส่วนแรกที่สามารถถูกกักเก็บไว้ได้ตามความต้องการของลูก จะถูกนำมากักเก็บที่บริเวณเต้านม เมื่อลูกดูดนมออกจนหมด หรือคุณแม่ปั๊มนมเก็บไว้ จึงทำให้มีที่ว่างสำหรับเก็บน้ำนมรอบใหม่  ในกรณีนี้เราเรียกว่าน้ำนมเกลี้ยงเต้า ถึงแม้คุณแม่จะยังสามารถใช้มือบีบแล้วยังมีน้ำนมยังออกมาก็ตาม

ลูกดูดเกลี้ยงเต้ากี่นาที ใช้เวลานานแค่ไหน

สำหรับคำถามที่ว่าจะให้ลูกดูดเต้าละกี่นาที หรือต้องปั๊มนมนานแค่ไหน จนกว่านมจะเกลี้ยงเต้า บอกตามตรงว่าไม่สามารถระบุได้ค่ะ เพราะระยะเวลาในการที่ลูกดูดนมเกลี้ยงเต้าและขนาดของเต้านมของคุณแม่ในแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ปัจจัยต่าง ๆ อาจจะทำให้ระยะเวลาในการดูดเกลี้ยงเต้าหรือระยะเวลาในการปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้านั้นจึงมีความแตกต่างกันตามแต่ปัจจัยต่าง ๆ

แล้วนมเกลี้ยงเต้าหรือไม่… เราจะรู้ได้อย่างไร

วิธีการสังเกตเมื่อน้ำนมเกลี้ยงเต้าแล้ว

การที่คุณแม่จะทราบได้นั้นว่านมเกลี้ยงเต้าแล้วหรือไม่ คุณแม่จะรู้สึกตึง ๆ และคัดเจ็บที่เต้านม ลูกน้อยจะหยุดดูด เพราะไม่มีน้ำนมไหลออกมาจากหัวนมแม่แล้ว ส่วนวิธีการดูว่านมเกลี้ยงเต้าหรือยังนั้น เราสามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ก่อนที่คุณแม่จะให้ลูกดูดนมทุกครั้ง คุณแม่จะรู้สึกว่าเต้านมมีความรู้สึกตึงมาก ในบางกรณีอาจเกิดความรู้สึกเจ็บเนื่องจากอาการคัดเต้านม
  • หลังจากให้ลูกดูดนมเสร็จแล้ว ข้อสังเกตง่าย ๆ เลยก็คือเต้านมจะนิ่มลง และอาการคัดเต้านม เจ็บเต้านม ก็จะหายไปด้วย
  • วิธีสังเกตอีกวิธีหนึ่งคือคุณแม่สามารถลองเอามือบีบเต้านม จะรู้สึกได้ว่าไม่มีน้ำนมพุ่งออกมาเหมือนตอนที่เต้านมคัด แต่จะมีน้ำนมออกมาเพียงไม่กี่หยดเท่านั้น

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า

หากลูกน้อยดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า อาจทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ และอาจทำให้ลูกได้รับน้ำนมส่วนหน้าซึ่งมีไขมันในปริมาณที่น้อย แต่มีน้ำตาลในปริมาณที่มาก น้ำตาลส่วนที่เหลือจากการดูดซึมไปใช้ในร่างกายของลูกจะทำให้ลูกเกิดอาการท้องอืด และเมื่อถูกขับจะขับไปที่ลำไส้ส่วนล่างและไปดูดซับน้ำในร่างกาย ทำให้ถ่ายอุจจาระปนน้ำบ่อยครั้งกว่าปกติ คุณแม่จึงมักคิดว่าลูกท้องเสีย ซึ่งอาการที่ว่านี้จะหายไปเมื่อลูกดูดนมได้เกลี้ยงเต้า เพราะลูกจะได้รับไขมันจากน้ำนมส่วนหลังในมื้อต่อไป

ส่วนคุณแม่ที่ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า อาจจะรู้สึกว่ามีก้อนแข็ง ๆ อยู่ที่บริเวณเต้านม จึงควรให้ลูกดูดบ่อย ๆ และใช้มือนวดคลึงบริเวณนั้นเบา ๆ ก้อนแข็ง ๆ ก็จะค่อย ๆ หายไป แต่หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้เกิดการอักเสบได้

เพราะน้ำนมคุณภาพดี อยู่ที่บริเวณก้นเต้า

น้ำนมก้นเต้าหรือน้ำนมส่วนหลังจะมีไขมันในปริมาณสูงมากถึง 2-5 เท่า ของน้ำนมส่วนหน้า ซึ่งไขมันตัวนี้จะไปเสริมสร้างการพัฒนาของสมองและสายตา อีกทั้งยังมีน้ำย่อยไลเปสจะที่ช่วยย่อยไขมันในขณะที่ลูกยังไม่สามารถสร้างน้ำย่อยเองได้ และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมเด็กที่กินนมแม่จึงท้องไม่ผูกนั่นเอง

แต่ก่อนที่ลูกจะดูดไปถึงน้ำนมก้นเต้านั้น ลูกจะต้องผ่านน้ำนมส่วนหน้าซึ่งมีสารอาหารทั้งเกลือแร่ วิตามิน โปรตีน และน้ำตาล ซึ่งถ้าลูกดูดนมได้เกลี้ยงเต้าทุกครั้งจะทำให้ลูกมีน้ำหนักขึ้น อิ่มนานขึ้น และนอนหลับได้นานมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าน้ำนมก้นเต้าก็มีประโยชน์ไม่แพ้น้ำนมส่วนหน้า ดังนั้น เราต้องพยายามให้ลูกดูดนมเกลี้ยงเต้าแล้วล่ะค่ะ

แต่เราจะทำอย่างไรดีนะ…

ทำอย่างไร ให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า

หากรู้วิธีให้นมลูกอย่างถูกต้อง แน่นอนว่าจะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ลูกสามารถดูดนมได้เกลี้ยงเต้ามากยิ่งขึ้น แม่ ๆ มือใหม่หลาย ๆ คนอาจจะผ่านการลองผิดลองถูกมามากมาย ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่า ว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ลูกดูดนมได้เกลี้ยงเต้ามากยิ่งขึ้น

ท่านั่งของคุณแม่

คุณแม่ควรนั่งในท่าให้นมลูก โดยอุ้มลูกในท่าอุ้มขวางตักแบบประยุกต์ ให้ตัวลูกอยู่ในระนาบเดียวกัน จะช่วยให้ลูกเข้าเต้าได้ดีมากยิ่งขึ้น

การจับพยุงเต้านม

การจับพยุงเต้านมที่ถูกต้องก็เพื่อนำหัวนมเข้าปากลูกได้ง่ายขึ้นนั่นเอง   ให้วางนิ้วหัวแม่มือไว้ที่ด้านบนของเต้านม ห่างจากลานหัวนมเพียงเล็กน้อย นิ้วที่เหลือให้ใช้พยุงเต้านมอยู่ด้านล่าง อาจใช้นิ้วชี้รั้งผิวหนังใต้นมไว้ก็ได้ เพื่อให้หัวนมยื่นออกมา ไม่ควรใช้นิ้วคีบเต้านมในลักษณะการคีบบุหรี่ เพราะจะไปบีบท่อน้ำนมไม่ให้ไหลออกมาได้อย่างสะดวก

ใช้หัวนมเขี่ยบริเวณแก้มหรือริมฝีปากของลูกเบาๆ

ตามสัญชาตญาณของเด็กทารก เมื่อลูกได้กลิ่นน้ำนมและการกระตุ้นด้วยนิ้วมือของคุณแม่ ลูกจะหันปากเข้าหาหัวนมพร้อมกับอ้าปากกว้างคล้ายกับการหาว ลูกควรอมงับหัวนมไปจนถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน

สังเกตคางของลูก

ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง วิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น ปากของลูกควรเป็นในลักษณะเหมือนปากปลา และจมูกของลูกจะอยู่ห่างออกจากเต้าแม่เล็กน้อย

เพราะน้ำนมแม่นั้นมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างมหาศาล ดังนั้น เหล่าแม่ ๆ อย่างพวกเรา ควรจะศึกษา ทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญในการให้นมลูกนะคะ เพื่อสุขภาพกาย จิต และพัฒนาการที่ดีของลูก ๆ นั่นเอง

วิธีให้ลูกดูดเต้า ฉบับคุณแม่มือใหม่หัดอยากเป็นคุณแม่มือโปร

Ploy

พลอยยินดีแบ่งปันข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ซึ่งมาจากทั้งการค้นคว้าด้วยตัวเอง รวมถึงประสบการณ์ตรงจากการเลี้ยงลูกของพลอยเอง หากคุณแม่ท่านไหนกำลังมองหาข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก บล็อกนี้มีข้อมูลที่คุณแม่ต้องการค่ะ :)

Recent Posts