การดูแลทารกแรกเกิดขั้นพื้นฐาน สำหรับคุณแม่มือใหม่ พร้อมข้อมูลที่ต้องรู้!


เหล่าแม่ ๆ หลายคน อาจจะรู้สึกเป็นกังวลกับการดูแลลูกน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคุณแม่มือใหม่ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์การเลี้ยงลูกมาก่อน แต่แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้อยู่ในสายเลือดของผู้เป็นแม่ และสามารถเรียนรู้กันได้ค่ะ

ดังนั้น ขออย่าให้เป็นกังวล เพราะวันนี้เราได้ลงมือเขียนบทความดี ๆ เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการดูแลทารกแรกเกิดขั้นพื้นฐาน เอให้คุณแม่มือใหม่ได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดาย อยากรู้แล้วหรือยังคะ ว่าการดูแลทารกนั้นจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง ถ้าพร้อมแล้ว เรามาดูกันเลยดีกว่า

การดูแลทารกแรกเกิดนั้นจะแบ่งออกเป็นหลายด้าน โดยแต่ละด้านนั้นมีความสำคัญไม่แตกต่างกันเลยค่ะ และอย่างที่บอกว่าในแต่ละด้านนั้นคุณแม่ควรใส่ใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะนั่นจะส่งผลต่อด้านอื่น ๆ และส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี

ด้านที่ 1 อาหาร

อาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกน้อยค่ะ คุณแม่จำเป็นต้องพิถีพิถันในการเลือกอาหารให้ทารกแรกเกิด เด็กทารกในช่วงแรกเกิด – 1 เดือน จะต้องดื่มนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ซึ่งเป็นคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และดื่มนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมเป็นระยะเวลานานจนถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะน้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และสารอาหารในนมแม่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยนมผสม หรือนมชนิดอื่น ๆ เราแนะนำให้คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด และให้ดูด 8-12 ครั้งต่อวัน

การให้นมลูกควรแนะนำว่าควรให้ในสถานที่ที่สงบและสะอาด ควรนวดเต้านมและลานหัวนมให้นิ่ม และบีบน้ำนมออกประมาณ 2-3 หยดก่อนให้ลูกดูด

ด้านที่ 2 สุขอนามัย

การดูแลเรื่องสุขอนามัยของเด็กทารก อาจแบ่งย่อย ๆ ได้ดังนี้

การดูแลความสะอาดด้านร่างกาย

การอายน้ำให้ทารกควรใช้น้ำในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และใช้เวลาอาบไม่ควรเกิน 5-7 นาที จำนวนครั้งในการอาบน้ำนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในแต่ละวัน หากวันไหนอากาศร้อน ๆ ก็อาจจะให้อาบน้ำให้ลูกวันละ 2 ครั้ง แต่หากวันไหนอุณหภูมิเย็นลงมาหน่อย อาจจะอาบน้ำให้ลูกวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอค่ะ

การอาบน้ำนั้นไม่ควรอาบทันทีหลังให้นม เพราะอาจจะส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกายของทารก อีกทั้งยังสามารถสระผมให้ลูกได้ 2 วัน 1 ครั้ง หากรู้สึกว่าลูกน้อยมีผิวแห้งจนเกินไป สามารถทาครีมบำรุงผิวสำหรับเด็กทารกโดยเฉพาะ และควรเลือกใช้สูตรที่อ่อนโยน และมาจากธรรมชาติจะดีที่สุด

การขับถ่าย

เด็กทารกนั้นจะขับถ่ายบ่อยกว่าปกติ ดังนั้นคุณแม่อาจจะต้องสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมชองลูก หากลูกมีอาการงอแงและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ก็ลองเช็คผ้าอ้อมดูว่าลูกได้ทำการขับถ่ายหรือยัง แนะนำให้เปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้ง และทำความสะอาดด้วยการใช้สำลีชุบน้ำเช็ด โดยเช็ดจากบนลงล่างเท่านั้น เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปยังอวัยวะเพศของลูกค่ะ

การดูแลช่องปาก

การดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กทารกตั้งแต่เนิ่น ๆ จะเป็นการป้องกันปัญหาฟันผุในอนาคต วิธีการง่าย ๆ เพียงแค่ใช้นิ้วพันผ้านุ่ม ๆ ชุบน้ำต้มสุกที่สะอาดเช็ดให้ทั่วภายในช่องปาก ลิ้น เหงือก เพดานปาก และกระพุ้งแก้ม ทำความสะอาดวันละสองครั้ง เช้าและเย็นหลังให้นมแม่สักพัก การทำความสะอาดช่องปากให้ทารกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการมีเครื่องมือเข้าไปในปาก เป็นการฝึกให้มีความเคยชินกับการมีช่องปากที่สะอาดเมื่อลูกโตขึ้นค่ะ

การดูแลสะดือ

สะดือของทารกแรกเกิดจะหลุดภายในช่วงเวลา 7-14 วันหลังคลอด ในช่วงที่สายสะดือยังไม่หลุดนั้น คุณแม่สามารถทำความสะอาดสะดือของลูกได้โดยการใช้สำลีชุบน้ำเปล่าหรือชุบน้ำยาฆ่าเชื้อมาเช็ดเบา ๆ รอบโคนสะดือ จากด้านในสู่ด้านนอก โดยสามารถทำความสะอาดได้วันละ 2 ครั้ง

หลังจากสายสะดือหลุดแล้ว ให้เช็ดทำความสะอาด และทำให้แห้งอยู่เสมอ ไม่ควรโรยแป้งลงไปในสะดือลูก เพราะอาจส่งผลให้ติดเชื้อได้

การดูแลความสะอาดเสื้อผ้า

ผิวของเด็กทารกนั้นมีความบอบบางกว่าผิวของผู้ใหญ่มาก ดังนั้น การทำความสะอาดเสื้อผ้าของลูกน้อย ควรพิถีพิถันในเรื่องของการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยน และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แนะนำให้แยกผ้าที่สกปรกมาก แยกเสื้อผ้าออกจากกองผ้าที่เลอะปัสสาวะและอุจจาระออก ให้ทำความสะอาดก่อนที่จะนำไปซักรวมกับเสื้อผ้าตัวอื่น ๆ

ด้านที่ 3 การอุ้มทารกแรกเกิด

การอุ้มทารกแรกเกิดมี 3 แบบ คือ การอุ้มในท่าปกติ การอุ้มเรอ และการอุ้มปลอบ การอุ้มในแต่ละแบบจะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันค่ะ

การอุ้มในท่าปกติ

ให้คุณแม่อุ้มทารกตะแคงเข้าหาทางหน้าอก ให้ท้ายทอยของทารกอยู่บนข้อพับแขน อีกมืออุ้มช้อนส่วนก้นและช่วงขา ลำตัวทารกแนบชิดกับลำตัวของแม่ ให้ศีรษะ คอ และลำตัว อยู่ในแนวเดียวกัน

การอุ้มเรอ

มีสองท่าคือท่าอุ้มพาดบ่า ให้หน้าท้องของทารกกดบริเวณไหล่ของแม่เพื่อไล่ลม และท่าอุ้มนั่งบนตัก โดยให้ทารกหันหน้าออก มือข้างหนึ่งของแม่จับที่หน้าอกของทารก ส่วนมืออีกข้างลูบหลัง ขณะลูบให้โน้มตัวทารกไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องถูกกดและไล่ลมออก

การอุ้มปลอบ

ลักษณะการอุ้มจะคล้าย ๆ กับการอุ้มเรอ แต่คุณแม่สามารถพูดคุยกับทารกไปด้วยเพื่อให้ทารกรู้สึกสงบและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ด้านที่ 4 การให้วัคซีน

ทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค และตับอักเสบบี หลังคลอดออกมา โดยจะบันทึกไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กและจะนัดให้มารับวัคซีนครั้งต่อไป คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกมารับวัคซีนตามนัด และหลังจากที่ทารกได้รับการฉีดวัคซีนควรดูแลแผลทุกครั้งด้วยการใช้สำลีชุบน้ำและทำความสะอาดที่บริเวณแผล อย่าสะกิดตุ่มหนองหรือทายาบริเวณที่ฉีด เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้

ด้านที่ 5 การตรวจสุขภาพ

สุขภาพของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญที่แม่ ๆ ทุกคนไม่ควรมองข้ามเรื่องการตรวจสุขภาพ คุณแม่ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์ 2-3 ครั้ง ในระหว่างที่ลูกอายุ 6 สัปดาห์ เพื่อรับทราบถึงปัญหาสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อย และเมื่อลูกอายุมากขึ้นก็สามารถพาลูกไปพบกุมารแพทย์ได้ทุก ๆ 1 เดือน หรือทุก ๆ 3 เดือน แล้วแต่ความเหมาะสม

ไม่ยากเกินไปเลยใช่ไหมล่ะคะ สำหรับการดูแลทารกแรกเกิดขั้นพื้นฐาน หากคุณแม่เรียนรู้ที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้อง รับรองว่าคุณแม่จะเป็นคุณแม่มืออาชีพ และไม่ต้องมีอะไรต้องกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อยเลยล่ะค่ะ

Ploy

พลอยยินดีแบ่งปันข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ซึ่งมาจากทั้งการค้นคว้าด้วยตัวเอง รวมถึงประสบการณ์ตรงจากการเลี้ยงลูกของพลอยเอง หากคุณแม่ท่านไหนกำลังมองหาข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก บล็อกนี้มีข้อมูลที่คุณแม่ต้องการค่ะ :)

Recent Posts