วิธีให้ลูกดูดเต้า ฉบับคุณแม่มือใหม่หัดอยากเป็นคุณแม่มือโปร


นมแม่ เป็นสารอาหารชั้นเยี่ยมสำหรับเหล่าทารกน้อย เพราะมีสารเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ดีแก่ร่างกายเด็กทารก เด็กทารกที่ได้รับนมแม่มาตั้งแต่เกิด จนอายุได้ถึง 6 เดือน จะทำให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี แต่การให้นมลูกสำหรับแม่ ๆ มือใหม่นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก…

แม่ ๆ มือใหม่ อาจจะเคยเจอกับปัญหาลูกไม่ยอมดูดเต้า หรือไม่รู้ว่าจะให้ลูกดูดเต้าอย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะสร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่ได้ไม่น้อย เพราะหากลูกไม่ยอมเข้าเต้า นั่นหมายความว่าลูกจะไม่ยอมดูดนม และอาจเกิดปัญหาทางด้านโภชนาการได้

แล้วทีนี้… คุณแม่มือใหม่จะทำอย่างไรล่ะ

เมื่อลูกไม่ยอมเข้าเต้า นั่นหมายความว่าลูกจะต้องกินนมจากขวดนมเท่านั้น ซึ่งอาจจะดูไม่ใช่ปัญหาใหญ่ใด ๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือน้ำนมที่ไม่ได้ผ่านจากอกแม่ อาจจะทำให้เด็กทารกรับสารอาหารได้ไม่เพียงพอ และแน่นอนว่าการที่ลูกดูดนมจากอกแม่ จะเป็นการพัฒนาสายใยระหว่างแม่ลูก ซึ่งหากลูกดูดนมจากขวด ลูกอาจจะไม่ได้รับพัฒนาการในจุด ๆ นี้

ลูกไม่ยอมดูดเต้า เราจะแก้ไขอย่างไรดี

วิธีการแก้ไขปัญหาลูกไม่ยอมเข้าเต้า แต่มักกินนมจากขวดแทนอาจจะฟังดูใจร้าย แต่เป็นวิธีที่สามารถใช้ได้อย่างเห็นผล หากคุณแม่ไม่อยากให้ลูกน้อยติดขวดนม วิธีการแก้ไขก็คือไม่ต้องใช้ขวดนมในการให้นมลูกนั่นเองค่ะ แรกเริ่มอาจจะฝึกให้ดูดนมจากเต้าบ้าง แต่หากลูกไม่ยอมดูด ก็ค่อย ๆ ป้อนนมจากถ้วยแทน โดยการใช้ช้อนตัก หรือหลอดดูดก็ได้ ลูกอาจจะไม่อิ่ม แต่วิธีการนี้จะทำให้ลูกดูดนมจากเต้ามากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งวิธีคือการปล่อยให้ลูกหิวแล้วจึงเอาเข้าเต้า เริ่มแรกลูกอาจจะปฏิเสธ แต่เมื่อหิวมาก ๆ แน่นอนว่าลูกจะไม่มีทางเลือก จึงต้องดูดนมจากเต้าแม่ อาจฟังดูใจร้าย แต่ต้องใช้ความอดทน เพราะวิธีนี้ใช้ได้ผลจริง ๆ ค่ะ

ก่อนที่เราจะมาเรียนรู้วิธีให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกต้องนั้น คุณแม่ต้องทราบก่อนว่าการดูดนมที่มีประสิทธิภาพของลูกน้อยนั้น เป็นอย่างไร

การดูดนมแม่ของเด็กทารกที่มีประสิทธิภาพ เด็กต้องดูดอย่างไร

หลักการในการดูดนมแม่อย่างมีประสิทธิภาพ คือการดูดเร็ว การดูดบ่อย และการดูดอย่างถูกวิธี จะมีรายละเอียดแบบไหนบ้างนั้น เรามาดูกันเลยดีกว่า

การดูดเร็ว

คือการให้ลูกน้อยดูดนมตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอด ยิ่งลูกดูดเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยกระตุ้นน้ำนมให้มาเร็วเท่านั้น

การดูดบ่อย

ในช่วงแรกเกิดจนถึง 1 เดือน เด็กทารกควรได้ดูดนมแม่ทุกครั้งเมื่อเขาต้องการ โดยภายใน 24 ชั่วโมง เด็กควรได้ดูดนมแม่อย่างน้อย 8 ครั้ง และหากลูกกำลังนอนหลับนานกว่า 3 ชั่วโมง ก็อาจจะต้องปลุกลูกให้ตื่นมากินนมแม่ เมื่อลูกอายุเพิ่มมากขึ้น จะดูดนมได้มากขึ้น และจะปรับตัวมากินนมในช่วงกลางวันมากกว่าช่วงกลางคืน

การดูดอย่างถูกวิธี

การให้ลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเจ็บปวดที่บริเวณเต้านมของคุณแม่ และช่วยให้ลูกดูดนมได้อย่างเต็มที่

วิธีให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกวิธี ทำอย่างไร

การที่คุณแม่จะเลี้ยงลูกและให้นมลูกได้สำเร็จนั้น สิ่งสำคัญคือการให้ลูกดูดนมจากเต้าได้อย่างถูกวิธี เพราะลูกจะสามารถได้รับปริมาณน้ำนมและคุณค่าจากนมแม่อย่างเต็มที่ แต่วิธีให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกวิธีนั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย

ขั้นตอนที่ 1 รักษาความสะอาด

ก่อนที่จะอุ้มลูกหรือสัมผัสตัวลูกนั้น เราแนะนำให้ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือความสกปรกที่คุณแม่หยิบจับสิ่งของต่าง ๆ มาตลอดทั้งวัน

ขั้นตอนที่ 2 หาสถานที่ที่เหมาะสม

ในการให้นมลูกแต่ละครั้ง คุณแม่ควรหาที่ที่เงียบสงบ เพื่อที่คุณแม่จะสามารถให้ความสนใจกับลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การสนใจลูก 100% ยังช่วยให้แม่ลูกช่วยกระชับความสัมพันธ์กันได้เป็นอย่างดี

ขั้นตอนที่ 3 อุ้มลูกอย่างถูกวิธี

การอุ้มลูกอย่างถูกวิธี จะช่วยให้ลูกดูดนมจากเค้านมแม่ได้สะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้น ท่าอุ้มในการให้นมลูกนั้นมีอยู่มากมายหลากหลายท่า คุณแม่อาจจะลองอุ้มลูกในท่าที่ถนัดและเหมาะกับตัวเองและลูก

ท่าอุ้มที่ถูกวิธี ควรเป็นดังนี้

  • ลำตัวกับศีรษะของลูกตั้งอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน
  • ตัวของลูกต้องตะแคงข้างเข้าหาตัวแม่ และอยู่ชิดแนบเนื้อกับตัวแม่
  • คุณแม่ใช้มือหรือหมอนในการช่วยรองรับลำตัวของลูกให้รู้สึกมั่นคง และป้องกันลูกตก

ขั้นตอนที่ 4 ประคองเต้านม

คุณแม่สามารถใช้มือประคองเต้านม และใช้หัวนมเขี่ยที่บริเวณริมฝีปากด้านล่างของลูก พอลูกอ้าปากงับหัวนม ให้ดูว่าลูกอมหัวนมลึกดีหรือไม่ จมูก แก้ม และคางควรจะสัมผัสเต้านม ขณะดูดนมแก้มควรป่อง และควรได้ยินเสียงกลืนเป็นจังหวะ

ขั้นตอนที่ 5 การเปลี่ยนเต้า

ก่อนที่จะเปลี่ยนเต้านม คุณแม่ควรให้ลูกดูดนเต้าแรกจนหมดเกลี้ยงเสียก่อน ถ้าลูกหยุกดูด แนะนำให้เคาะเต้านมเพื่อให้ลูกดูดนมต่อไปจนกว่าเต้านมข้างนั้นนิ่ม เมื่อเต้านมนิ่มแล้ว นั่นหมายความว่านมหมดเต้าแล้ว แล้วจึงค่อยเปลี่ยนให้ลูกไปดูดนมอีกข้าง

รู้ได้อย่างไร ว่าลูกดูดเต้าอย่างถูกต้อง

การตรวจสอบดูว่าลูกดูดนมถูกต้องหรือไม่นั้น สามารถสังเกตได้อย่างง่ายดาย โดยใช้หลักการในการสังเกตดังต่อไปนี้

  • ลูกอมฐานของหัวนมด้านล่างได้มากกว่าฐานนมด้านบน โดยจะเห็นฐานนมด้านบนอยู่เหนือริมฝีปากของลูก ส่วนฐานนมด้านล่างจะถูกอมจนเกือบมิด
  • ลูกอ้าปากกว้าง ริมฝีปากบานออกเหมือนปากปลา แนบกับเต้านมของแม่
  • คางของลูกชิดกับเต้านมของแม่
  • แม่ไม่เจ็บหัวนมเวลาลูกดูดนม

ไม่ยากเกินความสามารถของคุณแม่อย่างแน่นอนค่ะ ลองฝึกฝนสักนิด ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกหน่อย รับรองว่าการให้ลูกดูดเต้า จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณแม่มือใหม่อย่างแน่นอน

Ploy

พลอยยินดีแบ่งปันข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ซึ่งมาจากทั้งการค้นคว้าด้วยตัวเอง รวมถึงประสบการณ์ตรงจากการเลี้ยงลูกของพลอยเอง หากคุณแม่ท่านไหนกำลังมองหาข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก บล็อกนี้มีข้อมูลที่คุณแม่ต้องการค่ะ :)

Recent Posts